คำขวัญตำบลกุดแห่"ลำห้วยเขืองไหลผ่าน กลุ่มแม่บ้านสามัคคี เกษตรอินทรีย์ทันสมัย เลื่องลือไกลวันออกพรรษา มูลนิธิชัยพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ภูถ้ำพระงามตระกานตา ๑๔ เมษาคารวะพระธาตุอาจารย์ดี" ปรัญชาการดำเนินงาน "ตำบลน่าอยู่ ควบคู่การบริการ ประสานการพัฒนา แก้ปัญหาความยากจน นำคนสู่คุณธรรม"

 


 

วัดภูถ้ำพระ เป็นวัดหนึ่งที่พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้สร้างวัดขึ้นเป็นวัดฉลองกึ่งพุทธกาล พ. ศ. ๒๕๐๐ มีพระเณรมาอยู่จำพรรษาหลายรูป ปัจจุบัน วัดภูถ้ำพระ อยู่ในเขตปกครองของหลวงปู่สุนทรศีลขันธ์ หลวงปู่สิงห์ทอง ศิลขันธ์ ให้พระครูจิตตภาวนานุสิฐ ( พระอาจารย์สมหมายจิตต ฺโน ปาโล ทานะสิงห์) เป็นเจ้าอาวาสวัดและท่านพร้อมกับชาวบ้านหลายๆ หมู่เหล่า ได้พัฒนาวัดเจริญขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบัน

ความเป็นมา

ภูถ้ำพระ ตั้งอยู่บ้านหินโหง่น ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อยู่ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม จะมีป่าไผ่ ป่าเพ็ก ขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นสถานที่มหัศจรรย์แปลกตาแปลกใจแก่ผู้พบเห็น ธรรมชาติปรุงแต่งเอง ในบริเวณสถานที่วัด มีถ้ำที่แปลกตาหลายถ้ำ เช่น

  • ถ้ำพระ
  • ถ้ำเกลี้ยง
  • ถ้ำพรมบุตร
  • ถ้ำเค็ง
  • ถ้ำเกีย ( ค้างคาว)
  • ลานงูซวง
  • หน้าผา
  • อ่างเรือ
  • เจดีย์พระอาจารย์ดี ฉนฺโน

  ที่ตั้ง

ภูถ้ำพระตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อทิศตะวันออก จรดเขตอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร

ทิศเหนือ จรดเขตอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร

รูปร่างและขนาด

ลักษณะของภูถ้ำพระ มีลักษณะเป็นภูเขาเตี้ยๆ ไม่สูงนัก ขนาดเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ในบริเวณภูถ้ำพระยังมีถ้ำเล็กๆ น้อย อยู่มากมาย เช่น ถ้ำเกลี้ยง ถ้ำเค็ง ( ถ้ำจันทร์) เป็นต้น

อาณาเขต

ทิศตะวันออก จรดเขตตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร

ทิศเหนือ จรดเขตอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดหาร

ทิศใต้ จรดทางสาธารณะ

ทิศตะวันตก จรดทางสาธารณะ

ลักษณะภูมิอากาศ

อากาศบนภูถ้ำพระ จะมีอากาศที่เย็น ร่มรื่นสบายทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอากาศจะหนาว เย็นมาก และเวลามองทอดลงมาข้างล่างจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามมาก

ลักษณะเด่นของถ้ำต่างๆ

๑) ถ้ำพระ

ถ้ำพระเมื่อก่อนผู้คนเดินทางไปกราบหรือว่าพักผ่อนภายในถ้ำ จะพูดจาจะระวังทุกๆ คำพูด พูดคำหยาบคาย พูดตลกคะนอง ด่าฉันเสียดสีเป็นไม่ได้มีอันเป็นไปชั่วกระพริบตา มีครั้งหนึ่งนายท่อนไปเลี้ยงวัวควายตามประสาคนชนบท ไปจับเอากบในถ้ำพระ เพื่อเป็นอาหารกลางวันพอกลับมาถึงบ้านได้ป่วยกะทันหันตายในที่สุด ของคืนวันนั้น ต่อมาก็มีอีกคนหนึ่งชื่อเจ๊กใหญ่ มาทำการค้าขายอยู่ที่บ้านกุดแห่ มีโอกาสได้ขึ้นไปบนภูถ้ำพระ แล้วหยิบเอาพระทองคำในถ้ำ ๑ องค์ เพื่อจะไปบูชาเป็นการส่วนตัว พอกลับถึงบ้านแล้วนายส่อง ซึ่งเป็นลูกชายก็ล้มป่วยโดยกระทันหัน ตายในที่สุดของวันนั้น พ่อก็ได้ทำการฌาปนกิจศพตามประเพณี ผู้เป็นพ่อก็จึงนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปส่งยังถ้ำเหมือนเดิม จากนั้นผู้คนต่างๆ ที่หยิบเอาพระพุทธรูปจากถ้ำพระก็มีความกลัวตาย จึงนำไปส่งทุกๆ คนสมัยนั้น ต่อมาอีกก็มีนายกว้าง บัวศรี ได้กระทำล้อเลียนเหมือนคนโฆษกขายยาเอาใบไม้มาทำเป็นไมค์ลำโพง แล้วก็พูดให้เพื่อนฟังว่าเราเป็นโฆษกขายยานะทุกๆ คน ให้มาซื้อที่เราได้ราคาเป็นกันเองนะ พอกลับถึงบ้านก่อนเข้านอน ปากรู้สึกคันๆ พอเอามือมาจับดูปากก็บิดทันทีไม่สมารถจะกลับคืนได้ พอวันรุ่งขึ้นพ่อแม่พี่น้องก็ได้นำนายกว้าง ไปขอขะมาลาโทษที่ล่วงเกิน ปากที่บิดก็กลับคืนเหมือนเดิม ความอัศจรรย์ความศักดิ์สิทธิ์ของภูถ้ำพระสมัยก่อนเป็นความจริงทุกประการ เล่าต่อกันว่าพ่อผู้ใหญ่บ้านชัยเสน ได้พาพรานไปล่าสัตว์บนภูเพ็กแห่งนี้ มีพรานแก้วดวงดี พรานหอมสมบัติ พรานไชยราช และพรานพรมบุตร พร้อมกับพักพวกอีกจำนวนหนึ่งได้ไปล่าสัตว์บนภูแห่งนี้ และได้ไปพบเห็นพระพุทธรูป ในถ้ำจำนวนมากมาย อาทิเช่น พระแก้ว พระงา พระทองแดง พระทองคำ พระไม้จันทร์ พระไม้อื่นๆ รวมทั้งเหล็กไหล ซึ่งนายพรานทั้งหมดขึ้นไปล่าสัตว์จะบอกเล่าว่าในถ้ำพระ จะมีผีมเหศักดิ์ และงูเหลือมยักษ์ เป็นผู้รักษาถ้ำแห่งนี้ ถ้ามีคนขึ้นไปบริเวณภ้ำพระและทำมิดีมิร้ายจะเกิดอาการเจ็บป่วยหรือตายไปก็มี ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งนายพรานบอกเล่าว่าเป็นภูเขาที่มีอาถรรพ์และเป็นสิ่งที่ศักด์สิทธ์มาก

ปัจจุบันนี้ป่าเพ็กยังพบเห็นอยู่แต่ไม่มากนัก ส่วนพระพุทธรูปจะมีพระพุทธรูปไม้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นพระพุทธรูปสมัยไหน ส่วนเหล็กไหลตามคำบอกเล่าของพระอาจารย์สมหมายฯ เจ้าอาวาสวัด ท่านบอกว่ายังมีอยู่ในบริเวณภูถ้ำพระแห่งนี้ ซึ่งพระอาจารย์บอกว่าได้สร้างพระนอนและพระสังกัจจาย ทับบริเวณนั้นไว้ ส่วนพระงานั้นชาวบ้านได้ถือครอบครอง ต่อมาพระอาจารย์สมหมายฯ ลูกศิษย์อาจารย์ดี ฉนฺโน ผู้ซึ่งได้มาปฏิบัติธรรมบริเวณภูถ้ำพระเป็นคนแรกได้พาญาติโยมมาตั้งวัดภูถ้ำพระขึ้นบริเวณทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกภูถ้ำพระ ซึ่งก่อนนั้นจะเรียกว่า “ ภูเพ็ก” โดยพระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระลูกศิษย์อาจารย์ฝั่น ได้มาปฏิบัติธรรมและเดินธุดงค์บริเวณภูเพ็กแห่งนี้ จนกระทั่งพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้มรณะภาพ เมื่อปี พ . ศ. ๒๕๐๒ พระอาจารย์สมหมายฯ และหลวงปู่สิงห์ทองฯ ได้สร้างเจดีย์พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ขึ้นในปี พ . ศ. ๒๕๒๗ เพื่อเป็นที่สักการะ แต่เมื่อปี พ. ศ. ๒๕๔๐ ได้เกิดฟ้าผ่าเจดีย์พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่ได้บูรณะเจดีย์ เนื่องจากอาจารย์หงษ์ทอง ธนะกัญญา ผู้ที่จะบูรณะเจดีย์พระอาจารย์ดีฯ เกิดล้มป่วย อย่างหนักจนทุกวันนี้ไม่กล้าที่จะขึ้นไปบูรณะเจดีย์ บนภูแห่งนี้ เมื่อได้มีการค้นพบเป็นแหล่งท่องเที่ยว ภูถ้ำพระแห่งนี้มีจุดประทับใจและเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และสำคัญมากมายในบริเวณภูเขาแห่งนี้

๒ ) ถ้ำเกลี้ยง

ถ้ำเกลี้ยงเป็นถ้ำที่มีลักษณะที่คล้ายกับมีคนเอาอะไรไปขัดสีทุกๆ วันทำนองนั้น สีสันเป็นแววตาหาดูได้ยาก จากตำนานบอกเล่าของนายพรานที่ไปล่าสัตว์ว่า “ มีพระแก้วลงมายอกล้อเล่นกันบริเวณถ้ำนี้ทุกวันพระในเวลากลางคืนจะมีรูปร่างเท่าส้มโอจะมาเล่นกันในบริเวณนี้คืนละประมาณ ๒ - ๓ ลูก บุคคลที่เห็นพระแก้วเป็นหมอธรรมในหมู่บ้าและเป็นผู้มีที่นาติดกับภูถ้ำพระแห่งนี้ คือ นายบุญยู้ สารสุข ถ้ำนี้จะมีลักษณะเป็นสีเขียวเหมือนปีกแมลงภู่ทั้งข้างบนและข้างล่าง และมีลักษณะแปลกมากคือหินจะทับกันเป็นชั้นๆ ชั้นบนสุดจะเป็นช่องกระจกตรงกลาง คนสามารถผ่านไปมาได้ จึงมีตำนานเล่าว่าพระแก้วมาประทับเล่นในบริเวณชั้นบนสุดของหิน จับบริเวณตรงช่องกระจกและบริเวณถ้ำจะเรียบเนียนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ถ้าได้ไปสัมผัสบนถ้ำเกลี้ยงแห่งนี้

๓ ) ถ้ำพรมบุตร

จะอยู่ทางทิศตะวันตกของภูถ้ำพระ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ มีนายพรานพรมบุตรไปล่าสัตว์คนเดียวและยิงเก้งได้ตัวหนึ่ง และนำเนื้อเก้งไปย่างในบริเวณถ้ำลักษณะของถ้ำจะเป็นเพิงหิน สามารถหลบฝนได้ เมื่อย่างเก้งเสร็จแล้วลงจากถ้ำและได้พบพรานไชยราช จารย์นาค ( ชัยเสน) จารย์บุญ วรโยธา พรานพรมบุตรได้แบ่งเนื้อเก้งให้ ในวันต่อมานายพรานพรมบุตร ได้ขึ้นไปบนถ้ำแห่งนี้อีกครั้งไปล่าสัตว์เกิดป่วยอย่างหนักบริเวณถ้ำและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในแต่ละครั้งนายพรานพรมบุตรขึ้นมาบนภูแห่งนี้จะมาพักที่ถ้ำแห่งนี้ตลอดเวลาชาวบ้านจึงเรียกถ้ำนี้ว่า “ ถ้ำพรมบุตร” ตามชื่อพรานล่าสัตว์จนกระทั้งปัจจุบัน


๔) ถ้ำเค็ง( ถ้ำจันทร์)

จะอยู่ทางตะวันออกของหน้าผาลักษณะถ้ำเป็นเพิงหิน พื้นเรียบกว้าง ๔ เมตร ยาว ๓๐ เมตร แต่โบราณเล่าว่ามีรอยพระฤาษีหรือพระกรรมฐานธุดงค์มาอาศัยปฏิบัติธรรม เพราะมีร่องรอยการต้มน้ำ

ร้อนเพื่อฉันท์ บริเวณถ้ำสามารถ จุคนได้ ๒๐๐ คน โดยไม่เปียกฝน เมื่อ ๕๐ ปีก่อนยังค้นพบกระดูกเต็มไปหมดในถ้ำนี้ เหตุที่เรียกถ้ำนี้ว่า “ ถ้ำเค็ง” เพราะ เนื่องจากมีต้นเค็งใหญ่อยู่ด้านข้างของถ้ำ

๕ ) ถ้ำเกีย ( ถ้ำค้างคาว)

ถ้ำนี้จะมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้ำเกีย มีลักษณะเป็นภูหินโดยจะติดกันถึง ๓ ลูก ซึ่งกว้าง ๓ เมตร ยาวประมาณ ๘ เมตร ความลึกประมาณการไม่ได้ เวลามองลงไปด้านล่าง ( ก้นถ้ำ) ยิ่งลึกยิ่งแคบลงมาก นายพรานเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยเอาแห มาดักค้างคาวบริเวณปากถ้ำ และจะไล่ค้างคาวออกจากถ้ำเพื่อให้มาติดร่างแห แต่ละคืนจะได้ค้างคาวคืนละ ๑๐๐ – ๒๐๐ ตัว เวลากลางคืนจะได้ยินเสียงค้างคาวร้องเหมือนเสียงไก่ นายพรานว่าเป็นเสียงผีค้างคาว ที่หวงลูกไก่ ( ลูกค้างคาว) มันไม่ต้องการให้ใครเข้าไปขโมยลูกมันออกมา ถ้าไปดักอีกมันจะฆ่าให้ตาย คนจึงกลัวและไม่กล้าที่จะขึ้นไปดักค้างคาวบนถ้ำอีก ปัจจุบันนี้ นอกพรรษา ค้างคาวนับหมื่นตัว จะมาอยู่ที่สวนตาลเดี่ยว ของมหาเมฆ มุกธวัตร , หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร ก็ขอแผ่ไม่ให้คนจับ พอช่วงเข้าพรรษา ค้างคาวเหล่านี้ ก็จะกลับคืนถ้ำเดิม

๖ ) ถ้ำรอด

ถ้ำรอดจะมีลักษณะเป็นถ้ำหินใหญ่, สูง ที่แยกออกจากกันเป็น ๒ ลูก มีทางเดินอยู่ระหว่างก้อนหินทั้ง ๒ ลูก ทำให้เดินไปมาสะดวก จึงเรียกถ้ำนี้ว่า “ ถ้ำรอด”

 ๗ ) หน้าผา

หน้าผาจะอยู่ทางทิศตะวันออกของถ้ำพรมบุตร โดยหน้าผาจะหันหน้าไปยังทางทิศใต้ หน้าผาสูงประมาณ ๕ เมตร คนส่วนใหญ่ไม่นิยมขึ้น – ลง เนื่องจากหน้าผาเป็นแผ่นหินเรียบๆ ไม่มีจุดสนใจที่เด่นชัด เว้นเสียแต่พวกที่ชอบผจญภัย

๘ ) ลานงูชวง

มีความยาวประมาณ ๕๐ วา ขนาดเท่าโคนขา รูปร่างเป็นไปตามธรรมชาติของงู แต่ปัจจุบันจะมีขนาดเท่าหัวแม่มือ ซึ่งจะสึกกร่อนตามกาลเวลา โดยหางงูจะตวัดไปทางถ้ำเกลี้ยง ส่วนหัวงูจะชูขึ้นไปทางถ้ำเค็ง จากคำบอกเล่าของอาจารย์หงษ์ วรโยธา อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านกุดแห่ บอกว่ามหาเมฆ มุกธวัตร ผู้พบเห็นเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่า นายไหวได้ใช้ไม้เคาะบริเวณหัวงู ในเวลาต่อมานายไหว จะปวดตาอย่างมาก โดยกล่าวว่าอาจเป็นอาถรรพ์ของถ้ำแห่งนี้ และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ อย่างยิ่ง

 

๙ ) เจดีย์พระอรหันต์

ลักษณะเจดีย์จะเป็นหินวางซ้อนกัน เป็นชั้นๆ จากคำบอกเล่า เดิมทีมีพระอรหันต์มาปฏิบัติธรรมบนเจดีย์ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเรียกเจดีย์นี้ว่า “ เจดีย์พระอรหันต์”

 ๑๐ ) อ่างเรือ

อ่างเรือ จะอยู่ทิศเหนือของถ้ำเกลี้ยง และจะติดกับถนนลูกรัง บริเวณที่จะขึ้นบนภูถ้ำพระเป็นอ่างหิน อ่างเรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติของหิน เป็นหินรูปร่างคล้ายเรือแจว จึงให้ชื่อว่า “ อ่างเรือ” นับตั้งแต่นั้นมา

๑๑ ) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์( สระน้ำ)

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จะอยู่ตรงกลางของภูถ้ำพระมีความลึกประมาณ ๓ เมตร เกิดขึ้นเองตามธรรม- ชาติ ลักษณะพิเศษของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ คือ น้ำจะมีตลอดทั้งปี ใสสะอาดอย่างมาก

๑๒ ) รอยพระบาทจำลอง

จากการบอกเล่าว่า กล่าวว่า พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้นิมิตเห็น ( เกิดจากการนั่งสมาธิ) ว่า บริเวณตรงนี้เป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า พระอาจารย์ดี ฉนฺโน จึงได้สร้างรอยพระบาทจำลองขึ้น ขึ้นทางด้านล่างของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นที่สักการะของปวงชนที่ขึ้นมาบริเวณภูถ้ำพระจนถึงปัจจุบันนี้ โดยการนำของพระมหาสีทันดร

๑๓) พระธาตุอาจารย์ดี

เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้มรณะภาพลง หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร พร้อมด้วยพระอาจารย์สมหมาย เจ้าอาวาสวัดภูถ้ำพระ ก็ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ หลวงพ่อหงส์ทอง สหะธรรมโม หลานอาจารย์ดีฯ ได้นำอัฐิของอาจารย์ดีฯ มาไว้ในธาตุเจดีย์และเป็นผู้สละทรัพย์ สร้างจนเสร็จสิ้น เพื่อเป็นที่สักการะของชาวบ้านที่ขึ้นไปบนภูถ้ำพระ โดยพระธาตุฯ จะอยู่เหนือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทางด้านซ้ายมือของภูถ้าพระ พระธาตุนี้จะศักดิ์สิทธิ์มาก เนื่องจากผู้ที่ต้องการจะบูรณะใหม่ จะทำการบูรณะ ปรากฎว่ามีเหตุการฟ้าผ่าลงมายังพระธาตุ นั้น จึงเป็นเหตุไม่สามารถที่จะบูรณะพระธาตุนั้นได้ จนถึงปัจจุบัน

   

 

     

 

 

 

 

 

 
 
 

 

 

 

 

 

Free Web Hosting